Saturday, January 18, 2014

ข่าวชลบุรี ไฟท์ นักเพาะพันธ์บัวเตรียมเปิดตลาด

ไฟท์ นักเพาะพันธ์บัวเตรียมเปิดตลาด
ดร. ณ.นพชัย ชาญศิลป์ หัวหน้าสถานีวิจัยบัวและถ่ายทอดเทคโนโลยี  คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก จ.ชลบุรี ผู้คิดค้นและผสมพันธุ์บัวฝรั่ง ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของกลุ่มนักเล่นบัวทั่วโลก โดยเฉพาะ  “บัวยักษ์ออสเตรเลีย ”  ที่เพิ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ จากการประกวดที่ประเทศสหรัฐอเมริกา  เผยถึงการพัฒนาสายพันธุ์บัวของไทยในปัจจุบันว่า จัดอยู่ในระดับที่ดีที่สุดในโลก โดยเฉพาะกลุ่มบัวประดับ หรือบัวสาย ซึ่งเกษตรกรไทยมีจุดแข็งที่การเป็นคนช่างสังเกต และมีความประณีต  จึงสามารถขยายพันธุ์บัวได้ตรงตามความต้องการของตลาดไม่ว่าจะเป็นอเมริกา ยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งในอนาคตจีน กำลังจะกลายเป็นตลาดส่งออกใหญ่ของไทย
โดยตลาดบัว ที่กำลังอยู่ในความสนใจของคนทั่วโลกในขณะนี้ คือบัวที่ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์ โดยเฉพาะบัวที่มีขนาดเล็ก เช่น บัวแคระและบัวจิ๋ว ที่จะเปิดโอกาสให้ผู้อาศัยในคอนโดฯ ทาวเฮาส์ หรือบ้านขนาดเล็กได้เลี้ยงเพื่อชื่นชมดอก
โดย ดร. ณ.นพชัย  บอกอีกว่า ที่ผ่านมาสถานีฯ  สามารถผลิตบัวลูกผสมซึ่งเกิดจากพ่อและแม่พันธุ์จากต่างประเทศจนสามารถส่งเข้าแข่งขันในระดับโลกและได้รับรางวัลมาแล้วกว่า 10 รางวัล อาทิ บัวมังคลอุบล เยาวลักษณ์ ชาญวิทย์ วันวิสา ตะวันออก จุฬารัตน์ ดวงตาสวรรค์ ฯลฯ   และในอนาคตจะเริ่มนำบัวสายพันธุ์จิ๋ว และบัวที่มีกลีบเยอะ ป้อนเข้าสู่ตลาดเพื่อรองรับตลาดไม้ตัดที่จะใช้บัวหลากสี ที่มีความแข็งแรงเป็นไม้สำหรับตกแต่งเข้าช่อ
แต่ปัญหาที่เจอคือ   สถานีวิจัยฯ มีเพียงบุคลากรในเชิงพัฒนา แต่ในเชิงขยายพันธุ์เพื่อการค้ายังขาดแคลน จึงมีแนวคิดที่จะหาเครือข่ายเพื่อรับบัวที่ผสมได้ไปขยายพันธุ์ต่อยอดการค้า  ซึ่งอาจเป็นในลักษณะเฟรนไชส์  เนื่องจากในอดีตเมื่อผสมบัวออกมาได้ก็ส่งต่อพันธุ์ให้เกษตรกร ซึ่งช่วงแรกก็ถือเป็นเรื่องที่ดีกับประเทศที่ได้มีพันธุ์บัวใหม่ๆ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและประเทศชาติ   แต่ในระยะยาวคนที่เป็นผู้คิดสูตรผสมกลับต้องประสบปัญหาด้านเงินทุน  จึงต้องมองหาภาคเอกชน เพื่อแบ่งเปอร์เซ็นต์และแบ่งงานกันทำระหว่างคนขาย กับคนคิดค้นพันธุ์ เพื่อเปิดเป็นธุรกิจที่ถาวร
โดย ดร. ณ.นพชัย เผยว่าหากได้ผู้ร่วมธุรกิจแล้วก็พร้อมที่จะเปิดสอนในสูตรการผสมพันธุ์ รวมถึงเทคนิคการกำหนดหน้าตาบัวเพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาด ซึ่งถือเป็นสูตรการสอนที่ลึกซึ้งมากกว่าการสอนเพียงเทคนิคการปลูกบัว และการดูแลต่อยอดที่ทำอยู่ในปัจจุบัน  
สำหรับสถานีวิจัยบัวและถ่ายทอดเทคโนโลยี   มีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาสายพันธุ์บัวของไทยให้มีความแปลกใหม่ และสามารถส่งขายแข่งกับต่างประเทศ ซึ่งสายพันธุ์บัวที่ผลิตได้ใหม่จากสถานีวิจัยแห่งนี้ ยังไม่มีการเปิดตัวออกสู่ตลาด หรือผลิตออกขายในเชิงธุรกิจอย่างเป็นทางการเพราะเหตุผลที่กล่าวในเบื้องต้น  จะมีเฉพาะบางสายพันธุ์เท่านั้นที่สถานีฯ มอบให้กับเกษตรกร เพื่อนำไปขยายพันธุ์ต่อยอดทางธุรกิจสร้างรายได้เลี้ยงตัวเอง
โดยบัวสายพันธุ์แรกที่เกิดจากการผสมระหว่างสายพันธุ์ต่างประเทศ คือบัวมังคลอุบล  หรือ บัวสีเหลืองอมส้ม ที่ขณะนี้ขายดีและได้รับความสนใจมากที่สุดในโลก

No comments:

Post a Comment